วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

(ต่อ ๓)


วันเสาร์ที่ ๒๒ ตุลาคมเวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่ง ๓ คนขึ้นไปเฝ้าตรวจอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยตามเคย เมื่อกลับลงมาเห็นกิริยาท่าทางของหมอและเจ้านายไม่สู้ดี ได้ความว่าพระอาการหนักมาก พระบังคนเบาที่คาดว่าจะมีก็ไม่มี พิษของพระบังคนเบาซึมไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ จึงทำให้เป็นพิษเซื่องซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ หมอตั้งพระโอสถถวายเร่งให้มีพระบังคนเบาแรงขึ้นทุกทีพวกหมอฝรั่งประชุมกันเขียนรายงานพระอาการยื่นต่อเจ้านาย เสนาบดี พระอาการมากเหลือกำลังพอที่จะถวายการรักษาแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานารถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จมาแต่เช้า ได้ทอดพระเนตรรายงานพระอาการที่หมอทำไว้ ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่า ควรให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย ข้าพเจ้าจึงให้นาย ฉัน หุ้มแพร(ทิตย์ ณ สงขลา) รีบเอารถยนต็ไปรับมาทันที พระองค์เจ้าสายฯ ขึ้นไปตรวจเฝ้าพระอาการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวน้ำพระเนตรไหล แต่ไม่ตรัสว่าอะไร พระองค์เจ้าสายฯ กลับลงมายืนยันว่าพระอาการยังไม่เป็นไร เชื่อว่าที่บรรทมหลับเซื่องซึมอยั้นด้วยฤทธิ์พระโอสถต่างๆ พอฤทธิ์พระโอสถหมดแล้วก็คงจะทรงสบายขึ้น เพราะพระชีพจรก็ยังเต้นเป็นปกติ พระองค์เจ้าสายฯ กลับนำพระโอสถมาตั้งถวายแก้ทางพระศอแห้ง ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ตรัสทักว่า “หมอมาแล้วหรือ” ได้เท่านั้นแล้วก็ไม่ได้รับสั่งอะไรอีกต่อไปพระอาการตั้งแต่เช้าไปจนเย็นไม่มีพระบังคนหนักและเบาเลยพระหฤทัยอ่อนลงมาก ยังบรรทมหลับเซื่องซึมอยู่เสมอ เวลาย่ำค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปด้วย และเห็นหายพระทัยดังยาวๆ และหายพระทัยทางพระโอษฐ์พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ไกล สังเกตดูพระเนตรไม่จับใครเลย ลืมพระเนตรคว้างอยู่อย่างนั้นเอง แต่พระกรรณยังได้ยิน สมเด็จพระบรมราชินีนาถกราบทูลว่าเสวยน้ำ ยังทรงพยักพระพักตร์รับได้ และกราบทูลว่า พระโอสถแก้พระศอแห้งของพระองค์เจ้าสายฯ ก็ยังรับสั่งว่า “ฮือ” แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้ายที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตรคล้ายทรงพระกรรณแสง พระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระราชเทวีซับเช็ดพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์ชุบน้ำถวาย หมอฉีดพระโอสถถวายช่วยบำรุงพระหฤทัยให้แรงขึ้นตั้งแต่เวลานี้ต่อไป หมอฝรั่งนั่งประจำคอยจับพระชีพจรตรวจพระอาการผลัดเปลี่ยนกันประจำอยู่ที่พระองค์ การหายพระทัยค่อยเบาลงๆ ทุกที พระอาการกระวนกระวายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่มีอีกเลย คงบรรทมหลับอยู่เสมอ เจ้านายจะขึ้นไปเฝ้าอีกครั้ง ก็พอดีหมอรีบทูลลงมาว่า เสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา ๒ ยาม ๔๕ นาที
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ และ พระเจ้าน้องยาเธอ พร้อมกันเสด็จขึ้นไปเฝ้ากราบถวายบังคมด้วยความเศร้าโศกอาลัย ทรงกรรณแสง คร่ำครวญสะอึกสะอื้นทั่วกัน ข้าพเจ้าก็อยู่ที่นั้นด้วย กราบถวายบังคมมีความเศร้าโศกอาลัยแสนสาหัส ร่ำร้องไห้มิได้หยุดหย่อนเลย
ในที่พระบรรทม และตามเฉลียงเต็มไปด้วยฝ่ายในและฝ่ายหน้า ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ระงม เซ็งแซ่และทุ่มทอดกายทั่วไป ประดุจต้นไม้ใหญ่ที่ถูกลมพายุใหญ่ พัดต้นและกิ่งก้านหักล้มราบไปฉันใด บรรดาฝ่ายในและฝ่ายหน้าทั้งหมด ล้มกลิ้งเป็นลมไปตามกันฉันนั้น ด้วยความเศร้าโศกาอาดูร เป็นอย่างล้นเหลือที่จะรำพันให้สิ้นสุดได้

สมเด็จพระศรีศวรินทิรา พระบรมราชเทวี พระพันสัสสาอัยยิกาเจ้า(สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี)
ข้าพเจ้าต้องวิ่งลงไปตามหมอ ขึ้นไปแก้ท่านที่ประชวรพระวาโยกันเป็นการใหญ่ และต้องเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมราชินีนาถขึ้นพระเก้าอี้หามกลับไปส่งที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู เพราะประชวรพระวาโยและทรงชักกระตุกด้วย เจ้านายพระองค์อื่นและเจ้าจอมมารดาที่เป็นลม ก็มีผู้ช่วยพากันไปส่งตำหนักที่อยู่กันเรื่อยๆไป ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งประชวรพระวาโยบรรทมอยู่ที่เก้าอี้ปลายพระแท่นนั้น ก็ต้องใช้เก้าอี้หามเชิญเสด็จไปยังพระตำหนักของพระองค์ท่าน
สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมกระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

เวลานั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภานุพันธุวงศ์วรเดช ทูลเชิญเสด็จ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ให้เสด็จกลับลงไปชั้นล่าง ประทับห้องแป๊ะเต๋ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาผู้ใหญ่ องคมนตรี และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งทรงกรรณแสงและร้องไห้กันเสียงระงมเซ็งแซ่ทั่วไปทั้งพระที่นั่ง
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภานุพันธุวงศ์วรเดช ทรงคุกพระชงฆ์ลงกราบถวายบังคมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบสนองพระองค์สมเด็จพระชนกาธิราชต่อไป พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็กราบถวายบังคมทั่วกัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเรียกประชุมพร้อมกันในเวลานั้น เพื่อหารือที่จะจัดการสรงน้ำพระบรมศพ และเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพรุ่งนี้ และออกประกาศข่าวการสวรรคต และอื่นๆ
ในระหว่างที่ประชุมกันอยู่นี้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิ์ฯ และข้าพเจ้า พร้อมกับ เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (เพิ่ม ไกรฤกษ์) เจ้าหมื่นเสมอใจราช (อ้น นรพัลลภ) ขึ้นไปกราบถวายบังคม แล้วได้ฉลองพระเดชพระคุณ ช่วยกันเชิญพระองค์เลื่อนขึ้นไปหนุนพระเขนย จัดตกแต่งพระเขนย และผ้าลาดพระที่ ทั้งจัดแต่งพระองค์ให้เรียบร้อย แล้วพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิ์ฯ กับข้าพเจ้าถวายพระภูษา คลุมพระบรรทมคนละข้าง พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ประทับเป็นประธานอยู่ด้วย ครั้นจัดเรียบร้อยปิดพระวิสูตรแล้วกราบถวายบังคมลากลับลงไปข้างล่าง พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เพิ่งเสร็จการประชุม และกลับไปเมื่อจวนสว่าง ในคืนนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประทับแรมอยู่ที่ห้องพระบรรทมขาว พระที่นั่งอัมพรสถาน มีตำรวจหลวงและทหารมหาดเล็กล้อมวงรักษาการ ตามราชประเพณีตลอดคืนวันอาทิตย์ ที่ ๒๓ ตุลาคม เวลาเช้า ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปเฝ้ากราบถวายบังคมพระบรมศพอีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วยเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี เจ้าหมื่นเสมอใจราช และหลวงศักดิ์นายเวร (ม.ร.ว. ลภ อรุณวงศ์) พร้อมกันเชิญพระบรมศพจากพระแท่นที่พระบรรทม ไปประทับพระแท่นสำหรับสรง แล้วรื้อพระแท่นที่พระบรรทมออก สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี ประทับเป็นประธาน ในการถวายน้ำสรงพระบรมศพเป็นส่วนฝ่ายใน ครั้นแล้วจึงเชิญพระบรมศพขึ้นพระแท่นที่จัดไว้ใหม่สำหรับพระเกียรติยศ เพื่อถวายน้ำสรงพระบรมศพ เป็นพระราชพิธีตอนบ่ายในเวลานี้ข้าพเจ้าได้กราบถวายบังคมที่พระบาทยุคลถวายน้ำหอมสรงพระบาท และซับพระบาทด้วยผ้าเช็ดหน้า ไว้เป็นที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นที่สักการบูชา ได้พิศดูพระพักตร์ในเวลานี้เหมือนกำลังบรรทมหลับ พระพักตร์ยิ้มน้อยๆ ดูสง่างามเหลือเกิน กระทำให้ตื้นตันใจ ต้องร้องไห้ด้วยความอาลัยเศร้าทวียิ่งขึ้น มิใคร่จะจากพระบาทยุคลไปได้เลย ได้ทำหน้าที่ไปพลางร้องไห้คร่ำครวญไปพลางจนแล้วเสร็จ กราบถวายบังคมลากลับลงไปข้างล่างทางราชการได้ประกาศข่าวการเสด็จสวรรคตให้ประชาชนชาวสยามได้ทราบทั่วกัน ดังนี้“มีรับสั่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่งได้สำเร็จราชการแผ่นดินให้ประกาศทราบทั่วกันว่า สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรด้วยพระโรคพระธาตุพิการมาตั้งแต่วันที่ ๑๖ ตุลาคม พระโรคกลายไปในทางพระวักกะพิการ แพทย์ได้ประกอบพระโอสถถวาย พระอาการหาคลายไม่ ถึง ณ วันที่ วันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม เสด็จสู่สวรรคตเวลา ๒ ยามกับ ๔๕ นาที จะได้เชิญพระบรมศพสู่พระโกษฐ์แห่จากพระราชวังดุสิตไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ความเศร้าโศกทั้งหลายแก่ประชาชนทั้งหลายทั่วไปในพระราชอาณาจักร เพราะเหตุว่าพระชนกาธิราชได้ทรงทำนุบำรุงมาทั่วกัน...”การเสด็จสวรรคตของพระมหากษัตริย์แต่เดิมมาประชาชนต้องโกนหัวและนุ่งขาวหรือดำไว้ทุกข์ทั่วทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง จะเต็มใจหรือไม่นั้นไม่มีทางเลือกเพราะเป็นกฎหมายที่ทุกคนต้องทำตามพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าได้ตระหนักถึงความเรื่องนี้จึงได้ทรงแก้ไขเสียใหม่โดยโปรดเกล้าให้ไว้ทุกข์ เ
พียงนุ่งขาวหรือดำเท่านั้นไม่ทรงให้โกนศีรษะไว้ทุกข์ อันแสดงให้เห็นถึงน้ำพระหฤทัยที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ แม้ในเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่สำหรับพระธรรมิกราชันย์แล้วทรงเห็นว่าเป็นเรื่องทุกข์ของประชาชนเลยทีเดียวข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชทำให้เกิดเสียงร่ำไห้ดังระงมจากพระบรมมหาราชวังไปจกระทั้งถึงกระท่อมน้อยท่ามกลางความกันดารทุกคนต่างร่ำไห้เหมือนกันว่า“โอ้พระดวงประทีปแก้วของปวงชนใยจึงมาด่วนดับลับหายนับแต่นี้ไปจะได้ใครที่ไหนเล่าประดุจดังพระปิยมหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ได้”

(ต่อ)


สมเด็จพระปิตุฉาเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระอัครราชเทวี
ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงเล่าว่า “ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม เป็นวันพุธ ตรัสสั่งให้พระนางเจ้าสุขุมาลย์มารศรี พระราชเทวี ตั้งขนมจีนน้ำยาเป็นเครื่องตอนกลางวัน ส่วนตอนเย็นนั้นให้ทรงจัดเป็นกระทงสังฆทาน กระทงใหญ่และกระทงเล็ก เครื่องคาว ๗ สิ่งมี ฉู่ฉี่ปลาสลิด, แกงเผ็ด, หมูหวาน, ผัด, น้ำพริก, ผัก และปลาดุกย่างทอดเครื่องหวาน ๗ สิ่ง พระกระยาหารอยู่ก้นกระทง มีใบตองปิดเป็น ๓ ชั้น เสวยพระกระยาหารได้ แต่เริ่มพระนาภีไม่สู้ดีจึงเสวยพระโอสถปัด”ทรงมีรับสั่งให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ขึ้นเฝ้าเพื่อเป็นแม่กองดูแลพระอาการนั้นทรงรับสั่งว่า“ฉันเรียกแม่เล็กมาเป็นเจ้าของไข้”

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ(สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรามราชเทวี)
พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) บันทึกว่า“วันที่ ๒๐ ตุลาคม เวลา ๓ โมงเช้า คุณพนักงานออกมาบอกว่าสมเด็จพระบรมราชินีนาถมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปตามหมอเบอร์เกอร์ หมอไรเตอร์ และหมอปัวซ์ ให้รีบมาเฝ้าโดยเร็ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จออกมารับสั่งแก่ข้าพเจ้าให้จัดอาหารเลี้ยงหมอและจัดที่ให้หมออยู่ประจำตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเมื่อหมอมาเฝ้าตรวจพระอาการกลับลงมา ข้าพเจ้าได้ถามพระอาการ หมอไรเตอร์บอกว่าเป็นเพราะพระบังคนหนักค้างอยู่นาน เมื่อเสวยพระโอสถปัด พระบังคนหนักออกมาจึงอ่อนพระทัย พระกระเพาะอาหารอ่อนไม่มีแรงพอที่จะย่อยพระอาหารใหม่ ควรพักบรรทมนิ่งอย่าเสวยพระอาหารสัก ๒๔ ชั่วโมงก็จะปกติ หมอฉีดมอร์ฟีนถวายหนหนึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ มาฟังพระอาการมากด้วยกันตั้งแต่ ๕ ทุ่ม ได้บรรทมหลับเป็นปกติ พระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ หมอฝรั่ง หมอไทยและมหาดเล็กอยู่ประจำพรักพร้อมกันตลอดเวลาวันที่ ๒๑ ตุลาคม ย่ำรุ่งบรรทมตื่นตรัสว่า พระศอแห้ง แล้วเสวยพระสุธารสเย็น คณะแพทย์ไทยถวายพระโอสถแก้พระเสมหะแห้ง รับสั่งว่าอยากจะเสวยไรๆ ให้ชุ่มพระศอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถถวายน้ำผลไม้เงาะคั้น๑ พอเสวยได้สักครู่เดียวทรงพระอาเจียนออกมาหมด สมเด็จพระบรมราชินีนาถตกพระทัยเรียกหมอทั้ง ๓ คนขึ้นไปตรวจพระอาการ หมอกราบบังคมทูลว่า ที่เสวยน้ำผลเงาะหรือเสวยอะไรอื่นในเวลานี้ไม่ค่อยจะดีเพราะพระกระเพาะว่างและยังอักเสบเป็นพิษอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อเสวยพระกระยาหารหรือพระโอสถจึงทำให้ทรงพระอาเจียนออกมาหมด และเสียพระกำลังด้วย สู้อยู่นิ่งๆ ดีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกริ้วหมอว่า อาหารก็ไม่ให้กิน ยาก็ไม่ให้กิน ให้นอนนิ่งๆ อยู่เฉยๆ จะรักษาอย่างไรก็ไม่รักษา มันจะหายได้อย่างไร และตรัสต่อไปว่าเชื่อถือหมอฝรั่งไม่ได้ ประเดี๋ยวพูดกลับไปอย่างโน้นอย่างนี้ไม่แน่นอนเป็นหลักฐานอะไรได้เมื่อหมอกลับลงมาแล้ว มีรับสั่งกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่าให้ไปตามใครๆ เขามาพูดจาปรึกษาดูเถิด สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จลงมารับสั่งกับข้าพเจ้าให้มหาดเล็กไปเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ ในเวลาย่ำรุ่งนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จลงมาทรงเล่าพระอาการให้เจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ฟัง แล้วเจ้านายซักถามหมอๆ ก็ยืนยันว่าไม่เป็นอะไร บรรทมอยู่นิ่งๆ ดีกว่า เจ้านายพากันเห็นจริงตามหมอไปหมด รวมกันถวายความเห็นว่า ที่หมอรักษาอยู่เวลานี้ถูกต้องแล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จขึ้นไปกราบบังคมทูลว่า เจ้านาย ๔ พระองค์เสด็จมาแล้วได้ซักถามหมอ และเห็นด้วยตามที่หมอชี้แจง ทรงนิ่งอยู่มิได้รับสั่งอะไรต่อไปเวลาที่เลี้ยงเครื่องอาหารเช้าเจ้านายและหมออยู่นั้น มีพระอาเจียนอีกครั้งหนึ่งเป็นน้ำสีเขียวเหมือนข้าวยาคู ประมาณ ๑ จานซุป หมอว่าสีเขียวนั้นเป็นน้ำดี ตั้งแต่นี้ต่อไปก็มีพระอาการซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จลงมารับสั่งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า “การเจ็บครั้งนี้จะรักษากันอย่างไร ก็ให้รักษากันเถิด” ตามที่รับสั่งเช่นนี้ข้าพเจ้ารู้สึกใจหาย ให้หวั่นหวาดหนักใจไปเสียจริงๆตอนเที่ยง เจ้านายและหมอขึ้นเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ตามขึ้นไปด้วย กลับลงมาได้ความว่า มีแต่พระอาการเซื่องซึม บรรทมหลับอยู่ตลอดเวลา มีพระบังคนเบาครั้งหนึ่งประมาณ ๑ ช้อนกาแฟ สีเหลืองอ่อน สังเกตดูกิริยาอาการของหมอและเจ้านายยังไม่สู้ตกใจอะไรมากนัก สมเด็จพระบรมราชินีนาถรับสั่งให้เจ้านายผลัดเปลี่ยนกันประจำฟังพระอาการอยู่เสมอไปตอนบ่าย มีความร้อนในพระองค์ปรอท ๑๐๐ เศษ ๔ แต่เป็นเวลาทรงสร่างเพราะมีพระเสโทตามพระองค์บ้าง มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ ๒ ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟเหมือนคราวก่อน ในเรื่องพระบังคนเบาน้อยเป็นครั้งที่ ๒ นี้ เจ้านายออกจะสงสัย ทรงถามหมอๆ ก็ให้การว่าเป็นเพราะไม่ได้เสวยอะไร เสวยแต่พระสุธารสชั่ว ๒ – ๓ ช้อนเท่านั้นก็ซึมซาบไปตามพระองค์เสียหมด เพราะฉะนั้นพระบังคนเบาจึงน้อยไป ไม่เป็นอะไร เมื่อเสวยพระกระยาหารและพระสุธารสได้มากแล้ว พระบังคนเบาก็คงจะมีเป็นปกติ แต่พระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับยังมีอยู่เสมอตอนเย็น เมื่อเจ้านายและหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าจึงได้ยินรับสั่งกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนครสวรรค์ฯ ว่า “การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว” แล้วก็ไม่ได้ตรัสสั่งอะไรอีก เมื่อเจ้านายและหมอกลับลงมาคราวนี้ พากันรู้สึกว่าพระอาการมาก ไม่ใช่ทางพระธาตุพิการอย่างเดียว เป็นทางพระวักกะ(คิดนี) เครื่องกรองพระบังคนเบาเสียแล้ว มีพระบังคนเบาอีกเป็นครั้งที่ ๓ ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟ ตอนนี้หมอและเจ้านายแน่ใจทีเดียวว่าเป็นวักกะพิการ หมอได้รีบประชุมกันประกอบพระโอสถบำรุงพระบังคนเบาและเร่งให้มีพระบังคนเบา โดยเร็วและที่สุดใช้เครื่องสวนพระบังคนเบา แต่ไม่ได้ผล เพราะไมมีพระบังคนเบาเลยตอนค่ำ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยเช่นเคย เห็นพระพักตร์แต่ห่างๆ เข้าไปใกล้พระแท่นไม่ได้เพราะข้างในอยู่เต็มไปหมด ได้ยินเสียหายพระทัยดังและยาวๆ มาก บรรทมหลับอยู่ ถ้าจะถวายพระโอสถพระอาหาร หรือพระสุธารสก็ต้องปลุกพระบรรทม หมอกลับลงมาได้ความว่าการหายพระทัยและพระชีพจรยังดีอยู่ ความร้อนในพระองค์ลดลงแล้ว เห็นจะไม่เป็นไรหมอประชุมกันตั้งพระโอสถแก้พระบังคนเบาน้อยอีกประมาณ ๑ ทุ่มเศษมีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ ๔ ประมาณ ๑ ช้อนเกลือ และเป็นครั้งสุดท้ายค่ำวันนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมาฟังพระอาการเต็มไปทั้งพระที่นั่ง เจ้านายก็ยังเชื่อกันว่า พระบังคนเบาคงจะมีออกมามากแน่ ตั้งแต่ยามหนึ่งแล้วมีพระบังคนหนัก ๓ ครั้งเป็นสีดำๆ หมอฝรั่ง หมอไทยตรวจดูก็ว่าดีขึ้น คงจะมีพระบังคนปนอยู่ด้วย วันนี้เสวยน้ำซุปไก่เป็นพักๆ พักละ ๓ ช้อนบ้าง ๔ ช้อนบ้าง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ชงน้ำโสมส่งขึ้นไปถวายให้ทรงจิบเพื่อบำรุงพระกำลัง หมอฝรั่ง หมอไทยไม่คัดค้านอะไร คืนนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการกลับดึกกว่าคืนก่อนๆ

เหตุการณ์ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต


พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชทรงตรากตรำในพระราชภารกิจต่างๆ ในรัชสมัยของพระองค์ โดยเฉพาะการนำประเทศให้พ้นจากการเป็นเมืองขึ้นด้วยการทรงยอมเสียสละดินแดนส่วนน้อยแลกเอกราชไว้เป็นหลายครั้ง ทำให้ทรงไม่สบายพระราชหฤทัยไม่ทรงเสวยพระกระยาหาร ได้แต่นั่งครุ่นคิดไปต่างๆ นาๆ แม้ว่าการกระทำของพระองค์นั้นเป็นการชอบด้วยคดีโลกและคดีธรรม แต่ก็ทรงเป็นห่วงว่าผู้อื่นจะไม่คิดแบบพระองค์ท่าน ไม่คิดปกป้องบ้านเมืองให้พ้นจากภัยของนักล่าเมืองขึ้น

การไม่เสวยพระกระยาหารติดต่อกันคราวนั้นทำให้พระองค์ทรงถูกโรคกระเพาะอาหารเข้าแทรกมีพระอาการไม่น้อยในที่สุดแม้ยาก็ไม่ทรงเสวยด้วยทรงจะให้ถึงสิ้นพระชนม์ด้วยว่าทรงอยู่ในจุดสูงสุดของประเทศยากจะหันไปปรับทุกข์กับผู้ใด

ทรงระบายความในใจนั้นออกไปเป็นคำกลอนส่งไปยังพระเจ้าน้องยาเธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นการส่วนพระองค์ความในใจนั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้แต่งกลอนถวายเพื่อชี้ให้เห็นว่าการกระทำของพระองค์ในการยอมเสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะและยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตนั้นชอบด้วยคดีโลกและคดีธรรมหากทรงสิ้นพระชนม์ลงไปแล้วมหาชนชาวสยามและเหล่าข้าราชบริพารจะได้ผู้ใดเป็นที่พึ่งจะมิเป็นการซ้ำร้ายแก่สยามประเทศไปอีกหรือ

จึงทรงหันกลับมาเสวยพระกระยาหารใหม่ แต่พระวรกายก็ไม่สมบูรณ์เหมือนก่อนด้วยความเครียดในพระราชหฤทัยที่ต้องรับผิดชอบเรื่องต่อความเป็นความตายของบ้านเมืองเมื่อนักล่าเมืองขึ้น มักจะใช้อำนาจบาดใหญ่อยู่เสมอว่าที่จะดำเนินวิเทโศบายให้นักล่าเมืองขึ้นทั้งหลายได้รามือ ทำให้ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายเป็นอย่างยิ่ง (ในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ จะบรรยายในลำดับต่อไป)

ในปลายรัชสมัยนั้นก็ทรงปรากฏอาการของโรคพระวักกะพิการ พระวักกะพิการนี้นับว่าเป็นโรคที่อันตรายแม้ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากแล้ว โรคไตวายหรือไตพิการนี้ก็ยังเป็นโรคที่ร้ายแรงอยู่นั่นเอง แม้แพทย์หลวงจะได้ถวายการรักษาแบบแผนโบราณและแพทย์ฝรั่งจะถวายการรักษาแบบตะวันตก พระอาการก็ไม่ดีขึ้นมากนัก จนที่สุดแพทย์ก็ถวายคำแนะนำให้ทรงเสด็จพระพาสยุโรปเป็นครั้งที่สองเพื่อทอดพระเนตรความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ และรักษาพระโรคพระวักกะพิการไปด้วย
ทรงรับปากนายแพทย์ทั้งหลายที่จะเดินทางไปยังยุโรปเพื่อรักษาพระวรกายทั้งนี้ด้วยทรงเป็นห่วงว่าพระราชภารกิจอีกหลายประการที่ทรงวางรากฐานริเริ่มไว้นั้นยังไม่สำริดผลให้เห็นอย่างเต็มที่ หากมีพระชนมายุยืดยาวออกไปอีกสักหน่อยการทั้งหลายก็จะสำเร็จและมั่นคงมากขึ้น
ในขณะที่เตรียมพระองค์จะเสด็จประพาสยุโรปนั้นพระอาการพระวักกะพิการก็กำเริบอีกต้องถวายการพยาบาลจนพระอาการดีขึ้นจึงเสด็จไปยุโรป ครั้นเมื่อไปถึงแล้วนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ถวายการตรวจรักษาพบว่าทรงมีพระอาการโลหิตจางอันเนื่องมาจากโรคทางพระวักกะแพทย์ได้ถวายคำแนะนำว่าขอให้ทรงได้ประทับอยู่ในประเทศแถบยุโรปเป็นเวลานานพอสมควรด้วยเหตุว่าโรคพระวักกะนี้ยังไม่ถึงกับหนักหนาจะรักษาให้หายได้หากให้เวลาการรักษาให้เพียงพอ

ทรงรับสั่งให้หมอกำหนดเวลารักษา แต่หมอกลับไม่สามารถบอกเวลาที่แน่นอนได้ ในที่สุดก็ทรงตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาดเป็นครั้งสุดท้ายว่า
ระหว่างพระชนม์ชีพกับเรื่องของประเทศชาติงานด้านพัฒนาต่างๆ ที่รอพระองค์เสด็จกลับไปตัดสินพระทัยและประเมินผลงานนั้นมีมาก บางเรื่องคือความเป็นความตายของประเทศชาติและประชาชนทั้งปวง พระราชภารกิจทั้งหลายที่ทรงทิ้งไว้เบื้องหลังนั้นใหญ่หลวงนัก เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่จะต้องประทับอยู่ในยุโรปเป็นเวลานานเพื่อยังพระชนม์ชีพให้ยืนยาวต่อไปจากการรักษาของนายแพทย์ ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่า ทรงเลือกประเทศชาติมากกว่าพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงจัดหมายกำหนดการเสด็จกลับประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเวลาหลังจากนั้นไม่นานนัก

ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ปรากฏดาวหางขนาดใหญ่ขึ้นในท้องฟ้า ผู้คนตระหนกอกสั่นกันมากเชื่อกันไปในข้างไม่ดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็สนพระทัยต้องประสงค์ที่จะทรงทราบเรื่องราว ได้มีลายพระราชหัตถเลขา กราบทูลไปยังกรมหลวงวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศว่า
“ในบาฬีจะมีแห่งใดบ้างหรือไม่ที่กล่าวถึงดาวหางแลเรียกดาวหางอย่างไร”
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส



กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ถวายพระพรว่า

“ดาวหางเรียกอย่างไร ในบาฬียังไม่เคยพบ แต่ในภาษาสันสกฤตเรียกธูมเกตุ จึงได้ความว่าสงเคราะห์เข้าในพวกธาตุอันมีแสง แลศัพท์ว่า ธูมเกตุยังไม่เคยพบในบาฬี แต่ในอรรถกถาจะมีบ้างหรืออย่างไรยังไม่แน่ จะรับพระราชทานค้นดูก่อน”
ครั้นดาวหางไปพ้นแล้วโดยที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความหวาดกลัวต่างๆ ก็หมดไปและจนลืมกันไปที่สุด จนวันหนึ่งเป็นวันที่เริ่มจะมีเหตุ เจ้าคุณพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภบันทึกไว้ว่า
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๕๓(ร.ศ.๑๒๙) เป็นครั้งสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถไฟฟ้าออกประพาสในเย็นวันนั้นเสด็จทอดพระเนตรการเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างประเทศ และในบริเวณทั่วไปที่พญาไท แต่มิได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่งรับสั่งว่า “ท้องไม่ค่อยสบายจะรีบกลับ” แล้วก็ทรงขับรถพระที่นั่งกลับยังพระที่นั่งอัมพรทีเดียว มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น หม่อมเจ้าหญิงนิวาสสวัสดิ์พระธิดาในพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดชวิ่งขึ้นรถพระที่นั่งรองพลาดหกล้มเข้าไปติดขัดอยู่กับลูกล้อรถ แต่ผู้ขับเขาหยุดรถไว้ได้ ไม่ทันจะทับเป็นแค่ถลอกเล็กน้อย และตกพระทัยเป็นลมแน่นิ่ง รับองค์ขึ้นรถมาแก้ไขกันต่อจนฟื้นดี
วันที่ ๑๗ ตุลาคม ถึงวันที่ ๑๙ ตุลาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปีถวายรัชกาลที่ ๔ ในพระบรมมหาราชวังแต่เนื่องด้วยพระนาภียังไม่เป็นปกติ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จไปแทนพระองค์
วันที่ ๑๙ ตุลาคม เวลาค่ำมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช และเจ้าพระยายมราช(ปั้น สุขุม) ขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ชั้น ๓ ในที่พระบรรทม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิตเสด็จมาที่หลัง ตามขึ้นไปเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังตรัสราชการและตรัสเล่นกับผู้ไปเฝ้าเหมือนเวลาทรงพระสำราญ
Google